คำนำ

     ในปัจจุบันนี้นับได้ว่าการประเมินทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ดังเช่น การนำข้อมูลด้านต้นทุนและประสิทธิผลของยามาร่วมพิจารณาในการปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือการตัดสินใจปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในการบริการทางการแพทย์ของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ก็ใช้ข้อมูลการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลอยู่เสมอ ในการดำเนินการประเมินทางเศรษฐศาสตร์เพื่อ ให้ได้ข้อมูลดังกล่าว มักต้องใช้เวลานานในการรวบรวมข้อมูล และบางครั้งก็เกิดข้อโต้แย้งถึงวิธีการและความน่าเชื่อถือของผลการประเมิน ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้พยายามแก้โดยได้จัดทำคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย

เพื่อให้วิธีการประเมินเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นคือ การใช้ข้อมูลต้นทุนต่อหน่วยและค่าอ้างอิง ในการคำนวณต้นทุนของการเจ็บป่วย สำหรับใช้ในการประเมินยังมีประเภทและแหล่งที่มาที่แตกต่างกัน จึงทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างการศึกษาได้

เพราะแม้ผู้ป่วยจะได้รับการบริการทางการแพทย์ในปริมาณที่เท่ากัน แต่หากใช้ต้นทุนต่อหน่วยของบริการทางการแพทย์เหล่านั้นที่แตกต่างกันในการคำนวณ ก็จะทำให้ผลการคำนวณต้นทุนออกมาไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จึงได้ดำเนินโครงการจัดทำรายการต้นทุนมาตรฐานเพื่อการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพขึ้น

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การประเมินทางเศรษฐศาสตร์ในการเลือกใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพมีความสะดวกรวดเร็วและเป็นมาตรฐาน สามารถเปรียบเทียบกันระหว่างผลงานได้

     หวังว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ในกระบวนการพัฒนานโยบาย และการบริการสาธารณสุขของประเทศ ทำให้การตัดสินใจโดยใช้หลักฐานด้านประสิทธิภาพเป็นไปได้มากขึ้น


บทคัดย่อ

     การประเมินทางเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือที่สำคัญชนิดหนึ่งในการตัดสินใจเลือกใช้มาตราการทางสุขภาพทั้งในระดับปฏิบัติและระดับนโยบาย ในการดำเนินการประเมินเพื่อที่จะให้มีการเปรียบเทียบกันได้จะต้องมีวิธีการและค่าอ้างอิงในการคำนวณเหมือนกัน จึงได้มีการจัดทำรายการต้นทุนมาตรฐานเพื่อการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำรายการต้นทุนต่อหน่วยมาตรฐานของการบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลระดับต่างๆ ต้นทุนของผู้ป่วยในการเดินทางมารับบริการและค่าอ้างอิงที่ใช้ในการคำนวณ การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็นโครงการย่อย การวิเคราะห์ต้นทุนของสถานพยาบาลดำเนินการโดยวิธีค่าต้นทุนสัมพัทธ์ ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 5 แห่ง

การวิเคราะห์ต้นทุนสถานีอนามัยใช้วิธีต้นทุนมาตรฐานและวิธีต้นทุนจุลภาค จากสถานีอนามัยจำนวน 19 แห่ง การวิเคราะห์ต้นทุนบริการเภสัชกรรมดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 11 แห่ง ต้นทุนโลจิสติกส์ของโครงการบริการวัคซีนแห่งชาติ ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานจากส่วนกลาง ถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

การวิเคราะห์ต้นทุนของผู้ป่วยในการมารับบริการดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่มารับบริการที่สถานีอนามัย 6 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ 3 แห่ง ผู้รับการสัมภาษณ์รวม 900 ราย ส่วนค่าอ้างอิงได้จากการวิจัยเอกสาร ผลการวิเคราะห์ได้จัดทำและนำเสนอทั้งในรูปแบบหนังสือและเว็บไซต์ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

ประกอบด้วย ต้นทุนต่อหน่วยของบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแยกเป็น โรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์และโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 3,091 รายการ ต้นทุนต่อหน่วยของบริการทางการแพทย์ของสถานีอนามัย จำนวน 68 รายการ ต้นทุนบริการ เภสัชกรรมของโรงพยาบาลจำนวน 9 รายการ

ต้นทุนโลจิสติกส์ของโครงการบริการวัคซีนแห่งชาติ ต่อโด๊สของวัคซีน ต้นทุนของผู้ป่วยที่มารับบริการ ได้แก่ ระยะทาง เวลาที่ใช้ ค่าเดินทาง และค่าอาหาร และค่าอ้างอิงในการคำนวณค่าลงทุนและต้นทุนทางอ้อม ได้แก่ ค่าเกณฑ์อายุการใช้งานของอาคารสิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะและครุภัณฑ์ ค่าแรงขั้นต่ำและผลิตภัณฑ์ในประเทศเบื้องต้นต่อหัว

รายการต้นทุนและค่าอ้างอิงมาตรฐานเหล่านี้ จะทำให้การประเมินทางเศรษฐศาสตร์มีความสะดวกรวดเร็ว เกิดประโยชน์ในการเปรียบเทียบเพื่อสรุปภาพรวมในการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจัดทำรายการต้นทุนมาตรฐานนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย จึงมีข้อจำกัดบางประการ ที่จะต้องทำการปรับปรุงในการทบทวนครั้งต่อไปในอนาคต


วิธีการใช้ข้อมูล

รายการต้นทุนมาตรฐานที่นำเสนอครั้งนี้ประกอบด้วย
  • ต้นทุนต่อหน่วยของบริการทางการแพทย์ ทั้งด้านการรักษาและการส่งเสริมป้องกัน ของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์
  • ต้นทุนต่อหน่วยของบริการทางการแพทย์ ทั้งด้านการรักษาและการส่งเสริมป้องกัน ของสถานีอนามัย
  • ต้นทุนบริการเภสัชกรรมของระดับโรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์์
  • ต้นทุนโลจิสติกส์ของโครงการบริการวัคซีนแห่งชาติ (EPI)
  • ต้นทุนทางตรงที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ ได้แก่ ต้นทุนของครัวเรือน ซึ่งเป็นค่าเดินทางและค่าอาหารในการมารับการรักษา แบ่งเป็น 3 ระดับได้แก่ สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์
  • ค่าอ้างอิงในการคำนวณค่าลงทุนและต้นทุนทางอ้อม
การจัดกลุ่มบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเป็นการจัดกลุ่มที่อิงรายการของอัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับเบิกจ่ายค่ารักษาในสถานพยาบาลของทางราชการที่กำหนด โดยกรมบัญชีกลางเป็นหลัก และมีการเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งกรณีที่พบรายการแต่ไม่มีราคาต้นทุนปรากฎ แสดงว่าสถานพยาบาลที่เป็นกลุ่มตัวอย่างไม่ได้ให้บริการในปีที่วิเคราะห์ต้นทุน หากผู้ใช้ต้องการทราบต้นทุนรายการนั้นก็สามารถประมาณการได้โดย คูณค่าต้นทุนต่อหนึ่งหน่วยต้นทุนสัมพัทธ์ (RVU) ด้วยจำนวน RVU ของบริการนั้นที่แสดงไว้ในตารางมูลค่าต้นทุนต่อหน่วย RVU ของโรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์ และโรงพยาบาลชุมชน เท่ากับ 134.95 บาท และ 128.67 บาท ตามลำดับ ในกรณีที่ต้องการแปลงมูลค่าที่คำนวณจากอัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ พ.ศ.2549 มาเป็นต้นทุนสามารถทำได้โดยปรับค่าด้วยอัตราส่วนต้นทุน-ราคาเรียกเก็บ (Ratio of cost to charge) โดยใช้ค่า 1.63 และ 1.45 สำหรับโรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์ และโรงพยาบาลชุมชน ตามลำดับ
รายการต้นทุนที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างมีค่าที่แสดงความแปรปรวน (Variability) ได้นำเสนอเฉพาะ Standard Error (SE) ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์โดยวิธีการสร้างแบบจำลอง (Modeling) สำหรับรายการต้นทุนของโรงพยาบาล แม้จะดำเนินการในหลายโรงพยาบาล แต่เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีกรอบกิจกรรมในการให้บริการแตกต่างกัน จึงได้ใช้วิธีรวมต้นทุนและผลงานในกลุ่มเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน เสมือนเป็นสถานพยาบาลเดียวกัน จึงได้ค่าต้นทุนต่อหน่วยที่ไม่มีค่าความแปรปรวน
การคำนวณต้นทุนค่าเดินทางอาจใช้ค่ารถโดยตรงหรือระยะทางปรับด้วยอัตราค่ารถตามระยะทาง ในส่วนต้นทุนของเวลาที่เสียไปจะคำนวณจากระยะเวลาที่เสียไป (คำนวณจากนาทีเป็นชั่วโมง โดยอาจปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็ม) จากนั้นปรับด้วยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่คำนวณเป็นอัตราต่อชั่วโมง โดยกำหนดให้เวลาทำงานต่อวันเท่ากับ 8 ชั่วโมง โดยหลักการทั่วไปจะใช้อัตราค่าแรงกลางในการคำนวณต้นทุนทางอ้อม แต่หากต้องการใช้รายได้จริงที่ขาดหายไปก็ได้สำรวจและนำเสนอข้อมูลไว้ด้วย
ข้อมูลต้นทุนที่นำเสนอนี้เป็นมูลค่าของปี พ.ศ.2552 หากต้องการปรับเป็นค่าของปีที่ต่างไปจากนี้สามารถปรับได้โดยค่าดัชนีราคาผู้บริโภค กลุ่มค่าตรวจรักษาและค่ายา (Consumer Price Index; CPI/Medical care)
ข้อมูลรายการต้นทุนมาตรฐานที่ปรากฏอยู่ในรายงานเล่มนี้ได้มีการจัดทำเป็นโปรแกรมที่สามารถสืบค้นได้ อยู่ที่เว็บไซต์ของ HITAP (http://www.hitap.net/costingmenu/)
เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เข้าใจแนวคิดและวิธีการคำนวณ จึงได้นำเสนอข้อมูลดังต่อไปนี้
  1. หลักการและเหตุผล
  2. วิธีการในการจัดทำ
  3. การวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์
  4. การวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยของสถานีอนามัย
  5. การวิเคราะห์ต้นทุนบริการเภสัชกรรม
  6. การวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์ของโครงการบริการวัคซีนแห่งชาติิ
  7. การวิเคราะห์ต้นทุนทางตรงที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ ์
  8. ค่าอ้างอิงในการคำนวณต้นทุนค่าลงทุนและต้นทุนทางอ้อม
  9. วิจารณ์และเสนอแนะ

 



 

@copyright 2010 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข Health Intervention and Technology Assessment: HITAP Ministry of Public Health